Thailand Pension Reform

Thailand Pension Reform 20th Sep. 2017

เมื่อวันพุธที่ 20 กันยายน พ.ศ.2560 ที่ผ่านมา  Affinity Solution ได้มีโอกาสเป็นส่วนหนึ่งในการเตรียมงาน “การปฏิรูประบบบำนาญของประเทศไทย” (THAILAND PENSION REFORM) ณ อาคารอิมแพค ฟอรั่ม เมืองทองธานี

กระทรวงแรงงาน โดยสำนักงานประกันสังคม (สปส.) จัดประชุมวิชาการประกันสังคม ประจำปี 2560 ภายใต้หัวข้อ “การปฏิรูประบบบำนาญของประเทศไทย” (Thailand Pension Reform) โดยมีหม่อมหลวงปุณฑริก สมิติ ปลัดกระทรวงแรงงาน ให้เกียรติเป็นประธานในพิธีเปิด พร้อมปาฐกถาพิเศษเรื่อง “ระบบบำนาญภายใต้ปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง” ในวันพุธที่ 20 กันยายน 2560 ณ อาคารอิมแพค ฟอรั๋ม เมืองทองธานี จังหวัดนนทบุรี พร้อมเปิดเวทีแลกเปลี่ยนความคิดเห็นในการพัฒนาระบบบำนาญ เพื่อเสริมสร้างความร่วมมือ ความเข้าใจในระบบบำนาญต่อประชาชนและผู้มีส่วนเกี่ยวข้อง

นายสุรเดช  วลีอิทธิกุล เลขาธิการสำนักงานประกันสังคม กระทรวงแรงงาน กล่าวถึง การจัดประชุมวิชาการประกันสังคมในครั้งนี้ ภายใต้หัวข้อเรื่อง การปฏิรูประบบบำนาญของประเทศไทย (Thailand Pension Reform) เพื่อให้สอดคล้องกับสถานการณ์การเปลี่ยนแปลงโครงสร้างของประชากรที่มีผู้สูงอายุเพิ่มมากขึ้น ในขณะที่รัฐบาล และนโยบายของกระทรวงแรงงาน ให้ความสำคัญในการวางรากฐานพัฒนาประเทศ ให้เกิดความมั่นคง มั่งคั่ง ยั่งยืน ประกอบกับประเทศไทยจะก้าวเข้าสู่สังคมสูงวัย อย่างสมบูรณ์ในปี 2564 การประกันสังคมกรณีชราภาพเป็นหนึ่ง   ในหลักประกันที่ภาครัฐได้จัดให้มีขึ้น เพื่อให้ประชาชนมีความมั่นคงในชีวิต โดยจัดให้มีบำนาญเลี้ยงชีพเพื่อจะได้ใช้ชีวิตบั้นปลายอย่างปกติสุข สำนักงานประกันสังคมในฐานะที่ดูแลระบบบำนาญสำหรับผู้ที่ทำงานในระบบ จึงมีความจำเป็นที่จะต้องสร้างการรับรู้ และรับฟังข้อเสนอแนะ รวมทั้งความคิดเห็นต่างๆ ของผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย นายจ้าง ลูกจ้าง ผู้ประกันตน เพื่อให้ได้แนวทางในการดำเนินงาน การจัดทำระบบบำนาญสำหรับผู้ที่ทำงานในระบบ ซึ่งจะทำให้ผู้ประกันตนได้รับประโยชน์สูงสุดรวมถึงมีคุณภาพชีวิตที่ดีในยามชรา ซึ่งการประชุมวิชาการในครั้งนี้ เป็นอีกช่องทางหนึ่งในการเสริมสร้างความร่วมมือของทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้องในการปฏิรูปและพัฒนาระบบบำนาญ ของประเทศไทย อีกทั้งให้ความรู้ ความเข้าใจต่อประชาชนที่มีต่อระบบบำนาญได้อย่างชัดเจน ถูกต้อง และยังเปิดโอกาสให้มีการแลกเปลี่ยนความคิดเห็นความรู้และประสบการณ์ร่วมกัน

นายสุรเดช วลีอิทธิกุล เลขาธิการสำนักงานประกันสังคม เผยว่า การจัดประชุมวิชาการประกันสังคมประจำปี 2560 ซึ่งในปีนี้ เป็นครั้งที่ 12 โดยมีวัตถุประสงค์ในการจัดประชุมเพื่อเสริมสร้าง ความรู้ความเข้าใจ และความสำคัญของงานประกันสังคมแก่ประชาชนและภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง อีกทั้งเป็นเวทีแลกเปลี่ยนความรู้ ประสบการณ์ที่หลากหลายในการพัฒนางานประกันสังคม รวมทั้งเป็นช่องทางการเผยแพร่ประชาสัมพันธ์ผลงานวิจัยของสำนักงานประกันสังคมต่อสาธารณะ กระทรวงแรงงาน สำนักงานประกันสังคม จึงได้เปิดเวทีแลกเปลี่ยนความคิดเห็นจากผู้เข้าร่วมประชุม จำนวน 450 คน ประกอบด้วย ผู้บริหารกระทรวงแรงงาน ข้าราชการและเจ้าหน้าที่ของสำนักงานประกันสังคมทั้งส่วนกลางและส่วนภูมิภาค คณะกรรมการและอนุกรรมการ ผู้แทนจากหน่วยงานสังกัดกระทรวงแรงงานและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ผู้แทนองค์การแรงงานระหว่างประเทศ ผู้แทนฝ่ายนายจ้าง ลูกจ้าง ผู้ประกันตนโดยสมัครใจ นักวิชาการ นักวิจัย สื่อมวลชน และประชาชนทั่วไป โดยรูปแบบการจัดประชุมแบ่งออกเป็น 2 ส่วน คือ โดยช่วงเช้า ได้จัดให้มีการเสวนาเรื่อง “การบูรณาการระบบบำนาญประเทศไทย” โดยผู้แทนสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง ผู้แทนกรมกิจการผู้สูงอายุ ผู้แทนบริษัทหลักทรัพย์จัดการลงทุนรวมบัวหลวง จำกัด และผู้แทนสำนักงานประกันสังคม ซึ่งดำเนินรายการโดย นายกฤษณะ บุญยะชัย รวมทั้งปาฐกถาพิเศษ เรื่อง ระบบบำนาญภายใต้ปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง โดย หม่อมหลวงปุณฑริก สมิติ ปลัดกระทรวงแรงงาน ส่วนในช่วงบ่าย จะมีการบรรยายในหัวข้อ ฝากเรื่องชวนคิด “ระบบบำนาญของไทยกับการคุ้มครองทางสังคม” โดย ผู้แทนจากองค์การแรงงานระหว่างประเทศ การบรรยายเรื่อง “ระบบบำนาญสังคมกับผู้สูงอายุ” โดย รองศาสตราจารย์ ดร.วิพรรณ ประจวบเหมาะ และปิดท้ายด้วยสาระดี ๆ เรื่อง วางแผนเกษียณอย่างเพียงพอ โดยอาจารย์จตุพล ชมพูนิช  นอกจากนี้ ภายในงานยังมีการจัดนิทรรศการทางวิชาการแบ่งออกเป็น 7 โซน เช่น โซนที่ 1 ความสำคัญของบำนาญ โซนที่ 2 ตัวอย่างระบบบำนาญของต่างประเทศ โซนที่ 3 ระบบบำนาญของประเทศไทย โซนที่ 4 กองทุนเพื่อการชราภาพประเภทต่าง ๆ โซนที่ 5 เกมวงล้อมหาสนุกกับระบบบำนาญของไทย โซนที่ 6 การวิเคราะห์สุขภาพทางการเงิน และโซนที่ 7 เกมคำนวณบำนาญรายบุคคล

เลขาธิการฯ กล่าวในตอนท้ายว่า ว่า สำหรับข้อคิดเห็นและข้อเสนอแนะที่ได้รับจากการประชุมวิชาการในครั้งนี้ สำนักงานประกันสังคม จะนำมาศึกษาวิเคราะห์เพื่อใช้เป็นแนวทางในการดำเนินงานปรับปรุงการปฏิรูประบบบำนาญชราภาพ ให้เป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ และประสิทธิผลตรงตามความต้องการของสมาชิกกองทุนฯ อย่างแท้จริง และยึดประโยชน์สูงสุดของผู้ประกันตนเป็นสำคัญ อันจะส่งผลให้ผู้ประกันตน มีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นและได้รับบำนาญชราภาพหลังเกษียณอายุเพียงพอต่อการดำรงชีพ

ขอบคุณข้อมูลบางส่วนจาก สำนักงานประกันสังคม

แบ่งปันบทความสาระน่ารู้

Facebook
Twitter
LinkedIn

บทความอื่นๆ